โครงการ PANDASIA หนุนโดย EU มุ่งลดความเสี่ยงโรคระบาดจากสัตว์สู่คนในไทย
PANDASIA โครงการวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสหภาพยุโรป ได้จัดประชุมเริ่มต้นโครงการในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับการลดความเสี่ยงของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในอนาคต ตลอดจนการหามาตรการป้องกัน
ตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ Open Access Government นักวิจัยของโครงการประกอบไปด้วยนักชีววิทยา สัตวแพทย์ นักคณิตศาสตร์ นักสังคมวิทยา และแพทย์ จากประเทศนอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และไทย
“PANDASIA เป็นโครงการใหม่แบบสหวิทยาการ (transdisciplinary) ของ EU ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในยุโรปและประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบที่มาของโรคระบาดตามหลักของแนวคิด ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ (`One Health’)” Hans J Overgaard ผู้ประสานงานโครงการจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตแห่งนอร์เวย์ (Norwegian University of Life Sciences) กล่าว
“โดยแนวทางการศึกษานี้จะเป็นการบูรณาการระหว่างสาขาสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ อนามัยสิ่งแวดล้อม และสังคมศาสตร์”
เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน องค์กรจึงได้เลือกประเทศไทยเป็นที่พัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและเพื่อลดโอกาสที่โรคระบาดในท้องถิ่นจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ในระดับโลก
การแพร่โรคระบาดหรือเชื้อโรคจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสและแบคทีเรียถูกส่งต่อระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมทางการเกษตรที่ไม่ปลอดภัยและการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน