พบแรคคูนมีเชื้อพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารในเบลเยียม เจ้าหน้าที่เตือนให้ระวัง
วอลโลเนียพบเคสโรคพยาธิเบย์ลิสแอสคาเรียซิสเคสแรกในแรคคูนในประเทศเบลเยียมต่อจากประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส จากการแถลงของสำนักงานบริการประชาชนประจำวอลโลเนีย (Service Public de Wallonie, SPW) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
มีการระบุว่าแรคคูน 6 ตัวเป็นพาหะของโรคติดเชื้อพยาธินี้ซึ่งสามารถติดถึงคนได้ สำนักงานบริการประชาชนประจำวอลโลเนีย (SPW) จึงเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ
แรคคูนได้มีการเข้ามาตั้งประชากรทางตอนใต้ของเบลเยียมในช่วงทศวรรษ 1980 แม้ว่าพวกมันชอบอยู่ตามพื้นที่ป่าและตามริมน้ำมากกว่า แต่พวกมันก็ปรับตัวให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกเปลี่ยนเป็นชุมชนเมืองได้อย่างง่ายดาย และจากการที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าทำให้ประชากรของมันเพิ่มขึ้นอย่างง่ายดายทำให้มีประชากรราว 75,000 ตัวในวัลโลเนีย ด้วยหน้าตาดึงดูดและความไม่ระวังตัวทำให้แรคคูนมักฉวยโอกาสเข้ามาตามบ้านเรือนเพื่อหาอาหาร และอาจทำร้ายสัตว์เลี้ยงและแพร่เชื้อโรคได้
เชื้อพยาธิเบย์ลิสแอสคาริส โพรไซออนนิส อันตรายต่อมนุษย์
จากโรคต่าง ๆ เหล่านี้ แรคคูนสามารถเป็นพาหะของพยาธิในทางเดินอาหารที่เรียกว่า เบย์ลิสแอสคาริส โพรไซออนนิส (Baylisascaris procyonis) ไข่ของพยาธิชนิดนี้จะพบปนออกมากับมูลสัตว์ ตามเส้นขน และในพื้นที่ที่มันอาศัยอยู่ การติดเชื้อไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับแรคคูนแต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนโดยการกินดินหรือวัสดุอื่นที่เปื้อนดินที่ปนเปื้อนมูลของแรคคูนเข้าไป การติดเชื้อในคนยังพบได้ยากแต่อาจมีอันตรายอย่างมากเนื่องจากตัวอ่อนพยาธิสามารถไชผ่านระบบทางเดินอาหารและแพร่ไปทั่วร่างกายผ่านทางเส้นเลือด จากนั้นมันจะแพร่ไปยังกล้ามเนื้อเป็นหลักแต่ก็สามารถไปยังระบบประสาทและสมองได้ด้วยทำให้เกิดความผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาได้ (บางครั้งทำให้เกิดอาการสมองอักเสบรุนแรงถึงชีวิต ปัญหาที่ดวงตา และติดไปยังอวัยวะอื่น ๆ)
เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการง่าย ๆ สำนักงานบริการประชาชนประจำวอลโลเนียแนะนำประชาชนไม่ให้เข้าไปใกล้ (แม้แต่การสัมผัส) แรคคูน ไม่ให้อาหารพวกมัน ปิดกระบะทรายเมื่อไม่ใช้งานและดูแลไม่ให้เด็ก ๆ เอาสิ่งสกปรกเข้าปาก ช่วงที่ประชาชนท่องเที่ยวอยู่นอกเมืองควรเลือกเก็บลูกเบอร์รี่ป่าเฉพาะที่อยู่สูงจากพื้นเกิน 50 เซนติเมตร ล้างผักและผลไม้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม และปรุงอาหารที่แรคคูนหรือสุนัขจิ้งจอกสามารถเข้าถึงได้ให้สะอาด โดยเฉพาะอาหารที่เก็บมาจากทุ่ง ป่า หรือสวน
Image credit: RTL info