การพัฒนา PAN Viral PCR และการเตรียมเก็บตัวอย่างในฤดูฝนเพื่อการตรวจหาไวรัสที่มีมาตรฐาน
ชุดงานที่ 3 (Work Package 3, WP3) ของโครงการ PANDASIA ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบข้อกำหนดแนวทางการตรวจ PAN viral PCR เพื่อสร้างวิธีการตรวจหาไวรัสที่มีมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสในตัวอย่างที่ดำเนินการเก็บรวบรวมได้อย่างครอบคลุม
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ศาสตราจารย์ ดร.พญ.แจ่มใส เพียรทอง (หัวหน้าชุดงานที่ 3) และ ดร. ฮันส์ โอเวอร์การ์ด (หัวหน้าโครงการ PANDASIA และหัวหน้าทีมวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) ได้นำเสนอแผนงานเบื้องต้นและวิธีดำเนินการมาตรฐานสำหรับการตรวจหาไวรัส เพื่ออำนวยความสะดวกในการเตรียมความพร้อมของสมาชิกทีมวิจัยและการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ โดยได้พัฒนากรอบการเก็บตัวอย่างแบบบูรณาการ ช่วยให้ทั้งสองทีมสามารถเก็บตัวอย่างได้พร้อมกัน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พญ.แจ่มใส เพียรทอง ยังได้ถอดบทเรียนที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนามในครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา
ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ทีมวิจัยชุดงานที่ 3 ได้จัดการประชุมและทำการทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตร โดยศึกษาเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ Coronaviridae, Flaviviridae, Paramyxoviridae, Hantaviridae, Poxviridae, Hapeviridae และ Filoviridae ความสำเร็จในเบื้องต้นของการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยวิธี single-PCR ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการตรวจจับเชื้อไวรัสก่อโรคหลากหลายชนิด จากข้อมูลนี้ ทีมวิจัยชุดงานที่ 3 จะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อออกแบบข้อกำหนดแนวทางในการตรวจ multiplex PCR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงกระบวนการตรวจจับไวรัส