โครงการ PANDASIA ให้การส่งเสริมความมั่นคงในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย
ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน คณะทำงาน WP1 ของโครงการ PANDASIA ได้เข้าหารือและประสานงานกับหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและผลักดันการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมที่ได้ออกแบบและวางแผนไว้ ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) โครงการ PANDASIA ได้นำเสนอแผนและกิจกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของประชากรในระดับท้องถิ่น ให้ตระหนักถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความพร้อมของชุมชนต่อการระบาดของเชื้อก่อโรคดังกล่าว ครอบคลุมการระบาดทั้งระดับชุมชนและระดับโลก ทั้งนี้ ในประเทศไทย โครงการจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเชิงสังคม ชีวภาพ และอณูชีววิทยา รวมทั้งพัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์ข้อมูลสำหรับเชื้อก่อโรคและการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง
ด้วยการนำของนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและหารือกับหน่วยงานสำคัญในพื้นที่เป้าหมายในอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอเวียงแก่นของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาวในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางชีวภาพและระบบนิเวศที่หลากหลาย โดยมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าติดภูเขายาวต่อเนื่อง มีอุทยานแห่งชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งประชากรในท้องถิ่น นักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งยังมีถ้ำหินปูนเคาร์สต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งที่อยู่ของค้างคาวหลายสายพันธุ์ ทั้งนี้ การหารือกับสำนักงานสาธารณสุขและสำนักงานปศุสัตว์ในทุกระดับบังคับบัญชา ผู้นำจังหวัด องค์กรรัฐ องค์กรเอกชน และเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นนั้น ถือเป็นโอกาสดีในการเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ พร้อมทั้งส่งเสริมการยอมรับและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการจากผู้มีส่วนร่วมทุกระดับ
ปัจจุบัน โครงการ PANDASIA ได้มีการดำเนินการเพื่อติดต่อและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญอย่าง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี อีกด้วย
โครงการ PANDASIA จะประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนข้างต้น เพื่อการมีส่วนร่วมในบริบทของกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การสำรวจเชิงปริมาณและการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพก่อนและหลังการดำเนินงานโครงการ ในกลุ่มประชากรท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ บุคลากรด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครปศุสัตว์ (อสป.) และเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น