ไข้หวัดนกอาจคร่าชีวิตนกนับล้านทั่วโลกจากการระบาดในอเมริกาใต้

ไข้หวัดนกอาจคร่าชีวิตนกนับล้านทั่วโลกจากการระบาดในอเมริกาใต้

การระบาดของเชื้อไวรัสไปทั่วโลกทำให้นกตามธรรมชาติตายราว 2 แสนตัวในประเทศเปรูเพียงประเทศเดียว และยังสร้างความกังวลว่าประเทศออสเตรเลียอาจเป็นพื้นที่ที่จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสต่อไป

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูหนาวเมื่อปี 2564 ส่งให้เกิดการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดในยุโรปก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก โรคนี้แพร่มาถึงทวีปอเมริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และมีรายงานการระบาดในทุกทวีปยกเว้นเขตโอเชียเนียและแอนตาร์กติกา

การประเมินว่านกตามธรรมชาติตายกี่ตัวนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีซากนกที่หาไม่พบหรือไม่ถูกนับเป็นจำนวนมาก มิเชล วิลลี จากมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ผู้ร่วมเผยแพร่งานวิจัยที่เชื่อว่าเป็นงานแรกที่พยายามประเมินจำนวนการตายของนกในระดับโลกซึ่งรวบรวมจำนวนการตายของนกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 กล่าวว่า “เราประมาณจำนวนการตายของนกในธรรมชาติได้กว่าล้านตัว ไม่ใช่หลักหลายหมื่นตัวตามที่มีรายงาน” ในรายงานยังเพิ่มเติมอีกว่า “การระบาดของโรคในนกตามธรรมชาติสร้างความวิตกกังวลถึงจำนวนประชากรและชนิดของนกหลายชนิดซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์และสร้างความเสียหายต่อความพยายามด้านการอนุรักษ์ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ”

ในช่วงต้นปี 2566 มีประชากรนกกระทุงเปรู (Peruvian Pelican) มากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดตายลงไปในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ข้อมูลจากทางรัฐบาลเปรูยังเผยว่ามีจำนวนการตายของนกบู๊บบี้มากกว่า 1 แสนตัว และนกกาน้ำ 85,000 ตัว มิเชล วิลลี ยังกล่าวว่า “อเมริกาใต้เผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงกับจำนวนการตายของนกที่น่าตกใจ การระบาดครั้งนี้กำลังสร้างผลกระทบทั้งในระดับประชากรและชนิดของนกอย่างแท้จริงจนทำให้น่ากังวลว่าอาจสูญเสียจำนวนประชากรของนกบางชนิดที่ไม่อาจฟื้นฟูจำนวนประชากรกลับมาได้อีกต่อไป สถานการณ์นี้ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง เรากังวลอย่างยิ่งว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ [ของซีกโลกใต้] จากที่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสที่ทิเอร์ราเดลฟวีโกแล้วซึ่งนั่นบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นว่าไวรัสจะเกิดในแอนตาร์กติกา”

“ประเทศเปรูเป็นประเทศที่มีการบันทึกข้อมูลการตายของนกจากไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศอื่น ๆ กลับมีการเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยกว่า เช่น ประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นประเทศท้าย ๆ ที่ยืนยันว่ามีการติดเชื้อในนกตามธรรมชาติหลังจากรายงานพบโรคในประเทศเปรูถึง 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่บางประเทศไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรายงานผลกระทบจากเชื้อไวรัส” เอียน บราวน์ ผู้อำนวยการสถาบันบริการทางวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยพืชและสัตว์แห่งสหราชอาณาจักร (APHA) กล่าว “คงต้องระมัดระวังที่จะกล่าวว่าเปรูเป็นจุดฮอตสปอต ซึ่งไม่น่าจะมีเพียงแค่ประเทศเดียว” เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือไวรัสไข้หวัดนกพบเส้นทางของมันเข้าสู่อเมริกาใต้เป็นครั้งแรก ๆ ขณะที่ในยุโรปและบางส่วนในอเมริกาเหนือนั้น เราเคยเจอเคสแบบนี้มาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกมันจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้บ้าง แต่นกในอเมริกาใต้ยังไม่เคยเจอกับไวรัสนี้มาก่อน เป็นสิ่งที่อธิบายว่าทำไมอัตราการตายจึงสูงมากขนาดนี้”

นอกเหนือจากนี้ พบผลกระทบต่อประชากรนกทั่วโลกได้แก่ นกนางนวลแกลบแซนด์วิช (Sandwich Tern) ในยุโรป มีจำนวนการตาย ร้อยละ 17 ในปี 2565 นกกระทุงดัลเมเชียน (Dalmatian Pelican) ในยุโรป มีจำนวนการตาย ร้อยละ 40 เมื่อปี 2564 และนกนางนวลแกลบแคสเปียน (Caspian Tern) ที่ผสมพันธุ์แถบทะเลสาบมิชิแกน มีจำนวนการตาย ร้อยละ 62 ในปี 2565 ข้อมูลยังเปิดเผยว่ามีการพบโรคในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นที่กังวลว่าออสเตรเลียอาจเป็นประเทศถัดไป “นั่นจะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไวรัสนี้หรือกลุ่มของไวรัสนี้กระจายทั่วโลกได้ในระดับนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว” เอียน บราวน์กล่าว

ปัจจุบันยุโรปอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกซึ่งเป็นปีที่สองที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 โดยเชื้อไวรัสนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่มันสร้างผลกระทบในปีนี้ต่อนกต่างชนิดกันในยุโรปเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นกนางนวลขอบปีกขาว (Black-headed Gull) ทั่วยุโรปและในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกับนกนางนวลแกลบหลายชนิด ตามความเห็นของเจมส์ เพียร์ซ-ฮิกกินส์ ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์องค์การวิจัยปักษีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (British Trust for Ornithology: BTO) ให้ความเห็นว่าในระดับประเทศแล้ว นกนางนวลขอบปีกขาว ร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศตายลงไปนับตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่าน มาเท่ากับมีนกตายไปอย่างน้อย 3 หมื่นตัว ไม่รวมลูกนกอีกหลายพันตัว “เป็นเรื่องที่น่าเศร้าของผู้คนที่ได้เห็นพ่อแม่นกตายโดยที่มีลูก ๆ กำลังซุกอยู่กับพวกมัน” นกทั้ง 2 ชนิดสร้างรังในพื้นที่ใกล้เคียงกันทำให้ง่ายต่อการแพร่เชื้อระหว่างกัน “ภาพที่ผมเล่าให้เห็นเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรป” เพียร์ซ-ฮิกกินส์กล่าว

นกชนิดอื่นได้รับผลกระทบน้อยกว่า นกแกนเนตแถบเหนือ (Northern Gannet) และนกสกัวใหญ่ (Great Skua) ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อปี 2565 มีการตายน้อยลงมากในปีนี้ งานวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าบางส่วนมีภูมิคุ้มกันในขณะที่นกที่เหลืออาจไม่ได้สัมผัสกับเชื้อไวรัส นักวิจัยยังคงไม่รู้ว่าสัดส่วนของนกที่ฟื้นตัวกลับมาจากการติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นเท่าไร ภูมิคุ้มกันนั้นอยู่ได้นานแค่ไหน และปกป้องนกได้ในระดับไหน การศึกษาในนกแกนเนตแสดงความเป็นไปได้ว่านกที่มีสีตาเข้มขึ้นเป็นไปได้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน แม้ว่ากลุ่มนกทะเลที่อยู่ร่วมกันเป็นโคโลนีในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในสหราชอาณาจักรไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าปีก่อนแต่ก็พบการระบาดขึ้นหลายครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์กล่าวถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่พบว่าลูกนกนางนวลแกลบขั้วโลกเหนือมากกว่า 600 ตัวตายลงไปจากโคโลนีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ในพื้นที่แถบลองแนนนี ชายฝั่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังพบเคสเพิ่มขึ้นทางเหนือของเวลส์ซึ่งพบรายงานการตายของนกนางนวลแกลบ นกนางนวลแฮริง และนกพัฟฟิน มีซากนกหลายร้อยตัวถูกซัดมาเกยชายฝั่งทางตะวันออกของสกอตแลนด์

เมื่อปีที่แล้วได้เกิดความเสียหายขึ้นต่อนกหลายชนิดซึ่งข้อมูลที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนได้รวบรวมไว้ แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ได้คร่าชีวิตนกไปอย่างน้อย 5 หมื่นตัว ซึ่งเป็นสองเท่าของจำนวนนกที่ประมาณเอาไว้ ผลกระทบจากการระบาดเมื่อปีที่แล้วยังคงเห็นได้จำนวนนกที่อพยพกลับมาในปีนี้ สัญญาณเบื้องต้นในสกอตแลนด์ชี้ให้เห็นว่านกสกัวใหญ่ในเชตแลนด์เกิดกรระบาดค่อนข้างรุนแรงตามรายงานจากเนเจอร์สกอต สูญเสียประชากรนกไปราว ร้อยละ 90 ในเขตอนุรักษ์เฮอร์มาเนสส์ ชี้ถึงการลดลงของประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน สกอตแลนด์เป็นแหล่งอาศัยของนกสกัวใหญ่ ร้อยละ 60 ของประชากรทั่วโลก
หากพิจารณาข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสหประชาชาติ พบว่ายุโรปยังคงมีจำนวนนกที่ติดเชื้อไวรัสมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่นั่นเพราะมีการรายงานการเกิดโรค เอียน บราวน์กล่าวว่า “ช่องว่างบนแผนที่ไม่ได้แปลว่าไวรัสไม่อยู่ที่นั่น ลองดูที่เอเชียกลางที่ยังเป็นช่องว่างใหญ่ บางส่วนในแอฟริกาที่ยังเป็นช่องว่างใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ได้มีการเฝ้าระวังดำเนินการอยู่ เร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 กำลังจะสิ้นสุดลงในเร็ว ๆ นี้ เรากำลังเผชิญกับวิกฤติในระดับโลก”