บังคลาเทศรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสนิปาห์สูงที่สุดในรอบ 7 ปี
ปีนี้เป็นปีครั้งแรกที่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสในน้ำนมแม่ ไวรัสนิปาห์คร่าชีวิตผู้ป่วย 10 รายทำสถิติผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในรอบเจ็ดปี
นอกจากนี้ยังตรวจวินิจฉัยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 14 ราย
รายงานผู้ป่วยจากนรสิงดีเป็นผู้ป่วยนิปาห์รายแรกของปีนี้ตามข้อมูลจากสถาบันระบาดวิทยา การวิจัยและการควบคุมโรค (Institute of Epidemiology, Disease Control, and Research: IEDCR)
ระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ “การแพร่ระบาดและความเสี่ยงของไวรัส์นิปาห์” จัดโดยสำนักงานใหญ่ IEDCR เมื่อวันอาทิตย์ มีการเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่ามีการพบเชื้อไวรัสในน้ำนมแม่
ในช่วงฤดูหนาว ประชาชนมีการใช้น้ำอินทผาลัมเพื่อการเฉลิมฉลองส่งผลต่อการกระจายของเชื้อโรคร้ายแรงไปทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยและแพทย์จึงแนะนำให้ไม่ดื่มน้ำอินทผาลัม
“ไวรัสนิปาห์แพร่ผ่านมากับสิ่งคัดหลั่งและน้ำลายของค้างคาว การดื่มน้ำช่ออินทผาลัมสดทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสนี้ ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังบุคคลในครอบครัวหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้” ศาสตราจารย์ตาห์มินา ชีริน ผู้อำนวยการ IEDCR กล่าว
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เธอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำช่ออินทผาลัมสดและห้ามนำผลไม้ที่ถูกกัดแทะทิ้งไว้มาบริโภค
น้ำช่ออินทผาลัมซึ่งมีการนำมาขายทางตลาดออนไลน์มักมีป้ายกำกับว่า “ปลอดภัย” และ “ต้มสุกแล้ว” มีผลให้เกิดการแพร่กระจายของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนิปาห์ไปทั่วประเทศ
จากข้อมูลของ IEDCR ผู้ป่วยนิปาห์รายแรกในบังคลาเทศถูกพบเมื่อปี 2544 ในเมฮีร์ปุระ และพบเชื้อไวรัสใน 7 อำเภอทั่วประเทศ
หลังจากนั้น มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสนิปปาห์จำนวน 339 รายในประเทศ โดยเสียชีวิต 240 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 71.44%
ก่อนหน้านี้ในปี 2558 มีผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 15 รายในประเทศโดยมีผู้เสียชีวิต 11 ราย
ปีถัด ๆ มา จำนวนผู้ป่วยมีความแปรผันอยู่ระหว่าง 2 ถึง 8 ราย
เพื่อการเฝ้าระวังและประเมินการแพร่กระจายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับไวรัสนิปาห์ในบังคลาเทศได้มีความร่วมมือกันระหว่าง IEDCR และ icdd,b ดำเนินการเฝ้าระวังไวรัสนิปาห์ในโรงพยาบาลของวิทยาลัยทางการแพทย์แปดแห่งในประเทศมาตั้งแต่ปี 2549
ดร.มุชทุค์ ฮุสเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและที่ปรึกษาของ IEDCR กล่าวว่า “เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสนิปาห์ ไม่ควรบริโภคน้ำช่ออินทผาลัมสดไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามสามารถบริโภคน้ำช่อปาล์มนี้ได้หากมีการแปรรูปเป็นน้ำตาลปึกแล้ว นอกจากน้ำช่ออินทผาลัมแล้วไวรัสนี้ยังสามารถแพร่ผ่านผลไม้อีกหลายชนิด”
“เราต้องล้างผักและผลไม้ที่เรารับประทานทั้งเปลือกเช่น มะเขือเทศ ลูกท้อ ฝรั่ง และสตรอว์เบอร์รี ผลไม้ที่ปอกเปลือกก็ควรนำมาล้างด้วยน้ำให้สะอาด ผลไม้ที่ค้างคาวกัดแทะแล้วไม่ควรนำมาบริโภค”
ศาสตราจาร์ ดร. มูฮัมหมัด ชะฮาดัท ฮอสเซน ผู้อำนวยการระบบสารสนเทศการจัดการของกรมบริการสุขภาพ (Directorate General of Health Services: DGHS) กล่าวว่า “ข้อมูลที่เรารายงานนั้นเป็นผู้ป่วยยืนยันเท่านั้น เราไม่มั่นใจว่าผู้ที่เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมานั้นติดเชื้อไวรัสนิปาห์หรือไม่ เราต้องตั้งเป้าเน้นไปยังการค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น”
“จากการที่ไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ เราจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับโรคไปยังประชาชน เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”
ศาสตราจารย์ ดร. เมียร์จาดี้ ซาบรินา ฟลอรา ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติด้านเวชกรรมป้องกันและสังคม (National Institute of Preventive and Social Medicine: NIPSOM) กล่าวว่า “อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสนิปาห์นั้นสูงมาก ดังนั้นมันยากที่จะกล่าวว่าคุณจะรอดหรือไม่ แม้ว่าคุณจะได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วก็ตาม และผู้ที่รอดก็ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ พวกเขากลายเป็นผู้พิการ ในทางกลับกันมันไม่มีทางกำจัดเชื้อไวรัสนิปาห์ไปได้โดยไม่มีการป้องกัน”
เธอเสริมว่า “เราไม่ควรเชื้อเชิญเชื้อไวรัสเข้ามาด้วยการเฉลิมฉลองเทศกาลดื่มน้ำอินทผาลัม หากคุณมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ และมีอาการสับสนมึนงง ควรรีบไปขอรับคำแนะนำจากแพทย์ทันที”
ศาสตราจารย์ฟลอรายังชี้ให้เห็นอีกว่าโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ต้องการรับผู้ป่วยนิปาห์เป็นผู้ป่วยใน เพราะว่าบุคลากรผู้ให้บริการก็สามารถติดเชื้อได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ DGHS ควรแจ้งประกาศไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งให้จัดสรรหอรองรับผู้ป่วยนิปาห์
“เราคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากาก และถุงมือ ในช่วงการระบาดของโควิด เราสามารถดำเนินการตามนั้นได้สำหรับกรณีของนิปาห์” เธอกล่าวเพิ่มเติม
Image credit: The Business Standard