พบเชื้อไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ย่อยของลิงมาร์โมเซ็ตจากค้างคาวในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

พบเชื้อไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ย่อยของลิงมาร์โมเซ็ตจากค้างคาวในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

[ค้างคาวหางสั้นเซบา (Carollia perspicillata) ได้รับการตรวจที่ห้องปฏิบัติการกลางด้านสาธารณสุขแห่งรัฐเซอารา ค้างคาวมีความสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศและควรได้รับการดำเนินงานโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับการอบรมมาเท่านั้น] (Image credit: Larissa Leão Ferrer de Sousa)

การเกิดโรคเรบีส์ในสัตว์ป่าแต่ละชนิดเป็นแหล่งเกิดโรคในคนและมีโอกาสเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต นักวิจัยที่ค้นพบเชื้อเรบีส์ในครั้งนี้เตือนให้ผู้ที่สัมผัสกับสัตว์เหล่านี้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ หลังพบคนงานในฟาร์มวัย 36 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาภายหลังถูกลิงมาร์โมเซ็ตกัดเพียงหนึ่งสัปดาห์

เชื้อไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ย่อยที่มีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ย่อยที่พบในลิงมาร์โมเซ็ตกระหม่อมขาว (White-tufted Marmoset: Callithrix jacchus) ถูกพบในค้างคาวในรัฐซีอาราทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล โรคเรบีส์ (รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า โรคพิษสุนัขบ้า) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต การเกิดโรคในสัตว์แต่ละชนิดหมายถึงโอกาสเป็นแหล่งของโรคติดมาถึงมนุษย์และสร้างปัญหาทางสาธารณสุขตามมา ลิงมาร์โมเซ็ตเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในป่าและหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ทั่วบราซิล พวกมันมักถูกจับมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงและถูกปล่อยทิ้งในท้ายที่สุดตามเขตเมืองและบริเวณใกล้เคียง พบความเชื่อมโยงของพวกมันกับการพบเคสผู้ป่วยเรบีส์

การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิการวิจัยเซาเปาโล FAPESP และดำเนินการวิจัยโดยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาโล (Federal University of São Paulo’s Medical School: EPM-UNIFESP) ซึ่งบทความวิชาการได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการไวรัสวิทยาทางการแพทย์ (Journal of Medical Virology)

นอกจากความคล้ายคลึงกันของไวรัสสายพันธุ์ย่อยในมาร์โมเซ็ตและค้างคาวที่พบจากการวิเคราะห์ พวกเขายังประหลาดใจกับไวรัสที่พบในค้างคาวกินผลไม้และค้างคาวกินแมลง เพราะปกติแล้วค้างคาวที่กินเลือดเป็นอาหารถูกพบว่าเป็นโฮสต์อยู่บ่อยครั้งและเป็นตัวแพร่เชื้อเรบีส์ที่สำคัญ

“มีลิงมาร์โมเซ็ต 7 ตัวที่มีผลบวกจากการตรวจเชื้อเรบีส์ในครั้งนี้ โรคเรบีส์เป็นโรคประจำถิ่นในรัฐเซอาราซึ่งคนถูกมาร์โมเซ็ตทำร้ายและเสียชีวิตจากการติดเชื้อเรบีส์ โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา” ลาริสซา เลเอา แฟร์เรร์ เด ซูซา นักศึกษาปริญญาเอกจาก EPM-UNIFESP และสัตวแพทย์ของห้องปฏิบัติการกลางด้านสาธารณสุขแห่งรัฐเซอารา (LACEN-CE) ในฟอร์ตาลีซ่ากล่าว

การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่พนักงานฟาร์มวัย 36 ปีถูกกัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ใกล้กับเมืองการิอุส ชายรายนี้ได้เข้ารับการรักษาที่คลินิกในเดือนเมษายนในช่วงที่เริ่มมีอาการ แต่ก็เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น การติดเชื้อเรบีส์ทำให้เกิดสภาวะสมองอักเสบรุนแรง และการอักเสบที่สมองอย่างรวดเร็วนำไปสู่การเสียชีวิตเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด

“ลิงมาร์โมเซ็ตตัวนั้นถูกพบในสวนหลังบ้านของเขา มันแสดงอาการกึ่งอัมพาตซึ่งเป็นอาการแสดงอาการหนึ่งของโรคเรบีส์ เขาพยายามช่วยเหลือมันแต่มันกัดเขา สัตว์ที่เป็นโรคเรบีส์ไม่ได้มีอาการดุร้ายเสมอไปและไม่จำเป็นต้องมีน้ำลายไหลย้อยที่ปากซึ่งเป็นอาการที่คนส่วนใหญ่นึกถึง บางครั้งก็ไม่มีอาการใด ๆ ที่สังเกตเห็นได้เลย” เธอกล่าว

เราไม่ควรสัมผัสค้างคาวและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ซูซาเตือน ผู้ใดที่พบเห็นสัตว์ป่าตายควรแจ้งหน่วยงานเฝ้าระวังโรคสัตว์ในพื้นที่ซึ่งจะนำซากสัตว์นั้นไปตรวจวิเคราะห์ ใครที่ได้สัมผัสโดยตรงกับสัตว์จะต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันเรบีส์และ/หรือรับเซรุ่มต้านเชื้อเรบีส์จากคลินิกที่ใกล้ที่สุดทันที

“โรคเรบีส์มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 45 วัน ดังนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ติดเชื้อที่ต้องได้รับการป้องกันโรคหลังสัมผัสเชื้อ (เซรุ่มและวัคซีน) ทันที หากมีอาการปรากฏแล้วก็จะสายเกินไปและผู้ป่วยจะเสียชีวิต” ริการ์โด ดูราเอส-การ์วัลโญ่ นักวิจัยและหัวหน้าโครงการศึกษาจาก EPM-UNIFESP ซึ่งสนับสนุนโดย FAPESP กล่าว

การถอดรหัสลำดับพันธุกรรม
ผู้วิจัยวิเคราะห์เนื้อเยื่อสมองจำนวน 144 ตัวอย่างจากค้างคาว 15 ชนิด ซึ่งส่งมาที่ LACEN-CE ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2565 เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาระดับประเทศซึ่งร้องขอให้เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเก็บตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบว่าตายหรือที่มีอาการแสดงของโรคเรบีส์ในรัฐเซอารา

ชิ้นส่วน RNA จากตัวอย่างถูกนำไปถอดรหัสลำดับพันธุกรรมแล้วนำลำดับรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเรบีส์ไปเปรียบเทียบกับลำดับรหัสที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลสาธารณะ นักวิจัยใช้เครื่องมือที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสืบย้อนประวัติเชิงวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่พบ

ตัวอย่างลำดับพันธุกรรมชุดแรกที่สอดคล้องกับเชื้อไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ย่อยถูกพบเมื่อปี 2553 จากค้างคาวกินแมลง Tadarida brasiliensis และ Nyctinomops laticaudatus จากทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล อย่างไรก็ตาม พบเชื้อสายพันธุ์ย่อยอีกกลุ่มเป็นครั้งแรกจากค้างคาว (ค้างคาวกินแมลง 2 ชนิดและค้างคาวกินผลไม้ 1 ชนิด) ที่ใกล้เคียงอย่างมากในเชิงวิวัฒนาการกับไวรัสที่พบจากลิงมาร์โมเซ็ตทางตะวันออกเฉียงเหนือ

“ผลการศึกษาของเราช่วยให้เราตีความได้ว่าเชื้อไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันมีความใกล้เคียงกันอย่างมากในเชิงวิวัฒนาการมีต้นกำเนิดจากสัตว์กลุ่มเดียวกัน เผยให้เห็นวงจรการถ่ายทอดเชื้อข้ามโฮสต์ที่ซับซ้อนระหว่างโฮสต์ต่างชนิด” ดูราเอส-การ์วัลโญ่ ได้กล่าวเพิ่มเติม

ตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงอย่างแพร่หลาย สัตว์ป่ากลายเป็นแหล่งหลักในการเกิดโรคเรบีส์ของคนในทวีปอเมริกา ผู้เสียชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับลิงมาร์โมเซ็ตถูกรายงานว่ามีการพบเชื้อเรบีส์ตั้งแต่ปี 2534 ในรัฐเซอาราเช่นกัน นับจากนั้นพบผู้เสียชีวิตอีก 14 รายในรัฐนี้ที่เกิดจากการแพร่เชื้อมาจากไพรเมตเหล่านี้

ค้างคาวและลิงมาร์โมเซ็ตอาจเป็นกุญแจความเชื่อมโยงสำคัญของวงจรการแพร่เชื้อเรบีส์ในบราซิลแต่พวกมันก็มีบทบาทที่สำคัญทางระบบนิเวศและถูกคุกคามจากการสูญเสียถิ่นอาศัยจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค้างคาวมีความสำคัญต่อสมดุลทางระบบนิเวศและเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการกระจายพันธุ์พืช การถ่ายทอดละอองเรณู และการควบคุมศัตรูพืช ซูซายังเน้นย้ำว่า “มันเป็นเรื่องดีที่สุดที่ต้องคำนึงถึง (บทบาทสำคัญของ) สัตว์เหล่านี้และปล่อยให้พวกมันได้ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ”