องค์การอนามัยโลก (WHO) กังวลว่าไข้หวัดนกอาจปรับตัวแพร่สู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) กังวลว่าไข้หวัดนกอาจปรับตัวแพร่สู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 กรกฎาคม 2566) องค์การอนามัยโลกเตือนว่าการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เพิ่มสูงมากขึ้น อาจทำให้ความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่มนุษย์เพิ่มสูงขึ้นได้

ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ยุโรปประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกที่รุนแรงที่สุดที่เคยเท่าที่เคยมีมา ในขณะที่ทั้งทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ก็พบการระบาดรุนแรงของไข้หวัดนกเช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการทำลายสัตว์ปีกหลายสิบล้านตัวทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2539

แต่ในช่วงเร็ว ๆ นี้กลับมีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

“ไข้หวัดนกเป็นโรคที่ปกติแพร่กระจายในกลุ่มนก แต่การตรวจพบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 สูงขึ้นในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์มากกว่า ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าไข้หวัดนกอาจปรับตัวเพื่อสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น” องค์การอนามัยโลกกล่าวในแถลงการณ์

“นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอาจเป็นตัวผสมเชื้อของเชื้อไข้หวัดใหญ่หลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่อันตรายต่อสัตว์และมนุษย์มากขึ้น”

พบรายงานการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26 ชนิด รวมถึงมิ้งค์ในฟาร์มเพาะเลี้ยงในสเปนและสิงโตทะเลในชิลี นอกจากนี้ยังพบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในแมวในโปแลนด์เมื่อเร็วๆ นี้

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแพร่เชื้อ”

องค์การอนามัยโลกร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เรียกร้องให้นานาประเทศทำงานร่วมกันทำงานเพื่อปกป้องสุขภาพคนและสัตว์

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางนิเวศวิทยาและระบาดวิทยาของไข้หวัดนกที่พบไม่นานนี้ สร้างความกังวลไปทั่วโลกจากการระบาดที่กระจายไปสู่ภูมิภาคใหม่และทำให้เกิดการตายจำนวนมากผิดปกติของนกในธรรมชาติ และพบการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” กรอเกริโอ ตอร์เรส ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์องค์การสุขภาพสัตว์โลกกล่าว

การติดเชื้อในมนุษย์สามารถทำให้เกิดโรครุนแรงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงได้

การติดเชื้อมักเกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมกับสัตว์ปีกติดเชื้อที่ป่วยหรือตาย หรือจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนไวรัสไข้หวัดนก

“ไวรัสยังคงไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย แต่ก็จำเป็นต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่จะนำไปสู่การติดเชื้อจากคนสู่คน” ซิลวี บริแอนด์ หัวหน้าฝ่ายเตรียมความพร้อมการระบาดทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกกล่าว และยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญกำลังจับตาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้นและเรียกร้องให้ทุกประเทศเสริมศักยภาพระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเป็นพิเศษเนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของไวรัสไปสู่ประเทศที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือโรคไข้หวัดนก” บริแอนด์กล่าว

SOURCE: https://phys.org/news/2023-07-bird-flu-humans-easily.html