เกาหลีใต้เตือนพบการระบาดของไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในซากนกธรรมชาติที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

เกาหลีใต้เตือนพบการระบาดของไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในซากนกธรรมชาติที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

หน่วยงานกักกันโรคในเกาหลีใต้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังนกธรรมชาติที่มาจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมเร่งตรวจสอบฟาร์มที่เข้าข่ายต้องกักกันโรค โดยขอให้ฟาร์มสัตว์ปีกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค จากที่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในนกธรรมชาติเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานกักกันโรคในเกาหลีใต้วิตกกังวล โดยเน้นย้ำให้เสริมมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพโดยเร็ว กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท ประเทศเกาหลีใต้แถลงว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่นได้ยืนยันเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ว่าพบเชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (ประเภท H5N1) ในซากอีกาปากหนาที่เก็บมาจากเมืองบิไบ ฮอกไกโด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ฯ นี่เป็นการพบเชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในนกธรรมชาติเคสแรกในญี่ปุ่นในช่วงฤดูกาลปี 2566 – 2567 และถือเป็นการยืนยันการพบโรคที่ค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ วันที่พบเชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในนกธรรมชาติเคสแรกในแต่ละปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 24 ตุลาคม ในช่วงปี 2563 – 2564 วันที่ 8 พฤศจิกายน ในช่วงปี 2564 – 2565 และวันที่ 25 กันยายน ในช่วงปี 2565 – 2566 นอกจากนี้ ในระดับโลกยังพบว่าการเกิดโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในนกธรรมชาติ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการแพร่เชื้อไวรัสเข้าสู่ประเทศ ได้เพิ่มขึ้น 14.7% และเมื่อพิจารณาการพบเคสในนกธรรมชาติที่อพยพจากฝั่งตะวันออกไกลเข้าสู่เกาหลีใต้ในช่วงปลายเดือนที่แล้วจนถึงเดือนนี้ พบว่ามีเชื้อโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น 14.7% นี่เป็นสถานการณ์ที่นิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากอาจมีการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศในอัตราที่เร็วขึ้น ในการนี้ กระทรวงเกษตร ฯ และกระทรวงสิ่งแวดล้อม มีแผนที่จะขยายการเฝ้าระวังโรคจากมูลนกธรรมชาติในพื้นที่ปลายทางการอพยพของนก เช่น ในเขตปูซานและคยองนัม เพื่อตอบสนองต่อการอพยพของนกธรรมชาติที่อาจนำเชื้อเข้ามาผ่านทางประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตร ฯ จะระดมศูนย์บัญชาการกักกันโรค 19 แห่ง และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น 198 แห่ง รวม 217 ทีม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกักกันโรค เช่น การฆ่าเชื้อในฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มเพาะพันธุ์เป็ดซึ่งเสี่ยงต่อการกักกันโรค “เราจะเน้นการให้ความรู้และการส่งเสริมให้คนงานต่างชาติในฟาร์มสามารถปฏิบัติตามแนวทางการกักกันโรคได้ถูกต้อง” อันยองด๊ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการกักกัน กระทรวงเกษตร ฯ กล่าว “เนื่องจากอยู่ในช่วงที่นกอพยพในช่วงฤดูหนาวเข้ามาในประเทศและความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดในระดับสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ฟาร์มสัตว์ปีกจะปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ฉันปกป้องฟาร์มของฉันเอง’”