เกษตรกรเสียชีวิตแล้ว 10 รายจากโรคระบาด

เกษตรกรเสียชีวิตแล้ว 10 รายจากโรคระบาด

โรคเมลิออยโดซิส ระบาดในบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสงขลา

กรมควบคุมโรคเตือนเกษตรกรถึงการระบาดระลอกใหม่ของโรคเมลิออยโดซิส (Melioidosis) ซึ่งได้ทำให้มีเกษตรกรเสียชีวิตไปแล้วราว 10 รายในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสงขลา
โรคเมลิออยโดซิส หรือที่บางท้องถิ่นเรียกว่า โรคไข้ดินหรือฝีดิน เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากเชื้อเบอร์กโคลเดอเรีย ซูโดมัลลิไอ (Burkholderia pseudomallei หรือ B. pseudomallei) ซึ่งพบได้ตามปกติในดิน น้ำ นาข้าว และแปลงพืชเกษตร
ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคเมลิออยโดซิส สร้างความวิตกให้กับบุคลากรทางการแพทย์
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าปีนี้พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดซิสแล้ว 582 รายใน 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง แบ่งเป็นบุรีรัมย์ 336 ราย นครราชสีมา 93 ราย สุรินทร์ 106 ราย และชัยภูมิ 47 ราย โดยที่มีผู้เสียชีวิต 6 ราย (บุรีรัมย์ 4 ราย และนครราชสีมา 2 ราย)
นายแพทย์ทวีชัยกล่าวว่าผู้ป่วยร้อยละ 53.78 เป็นเกษตรกร ร้อยละ 25.88 เป็นลูกจ้าง และร้อยละ 6.87 เป็นเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี และ 45 – 54 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์เดชา แซ่ลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพาในจังหวัดสงขลา แจ้งว่าผู้ป่วยโรคเมลิออยโดซิส 5 จาก 7 รายในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยผู้เสียชีวิตสี่รายมีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว
นายแพทย์เดชากล่าวว่าปีนี้เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่พบผู้เสียชีวิตจากโรคเมลิออยโดซิส โดยปกติจะพบผู้ป่วยอย่างน้อย 2 รายในแต่ละปี แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค โรคเมลิออยโดซิสสามารถติดถึงทั้งคนและสัตว์ที่สัมผัสโดยตรงกับแหล่งที่ปนเปื้อนเชื้อ
นายแพทย์ทวีชัยระบุว่าคนสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับดินและน้ำ การบริโภค หรือแม้แต่การสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไป
อาการของโรคจะแสดงออกมาในระยะ 1 – 21 วันหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคน อาการของโรค ได้แก่ มีไข้สูง เป็นฝี และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
นายแพทย์ทวีชัยแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร หลีกเลี่ยงการเดินย่ำในน้ำและดินโคลน สวมใส่รองเท้าบู๊ต ใส่อุปกรณ์ป้องกันรองเท้า และดื่มน้ำที่สะอาด รีบพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการของโรค และสามารถติดต่อไปยังสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม