ยืนยันพบไข้หวัดนกครั้งแรกในภูมิภาคแอนตาร์กติก

ยืนยันพบไข้หวัดนกครั้งแรกในภูมิภาคแอนตาร์กติก

มีการยืนยันการพบโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) ในฝูงนกสกัวสีน้ำตาล (Brown Skua) บนเกาะเบิร์ดไอส์แลนด์ (Bird Island) ในเซาธ์จอร์เจีย (South Georgia) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบเคสเช่นนี้ในภูมิภาคแอนตาร์กติก

หลังได้รับรายงานว่ามีนกหลายตัวมีอาการคล้ายไข้หวัดนกและตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทีมงานจากองค์กรสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาแห่งอังกฤษ หรือ BAS ก็ได้เก็บตัวอย่างจากเกาะเบิร์ดไอส์แลนด์เพื่อตรวจหาเชื้อโรค โดยส่งไปยังสหราชอาณาจักรและตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการด้านสุขภาพพืชและสัตว์ (Animal and Plant Health Agency) ในเวย์บริดจ์ (Weybridge) ซึ่งผลการตรวจพบว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงประเภท H5N1
การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงเกิดจากการแพร่เชื้อตามธรรมชาติเป็นหลัก และมีแนวโน้มว่าน่าจะเกิดจากการที่นกอพยพไปยังอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่วยจากไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงจำนวนมาก ทั้งนี้ BAS และรัฐบาลเซาธ์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาธ์แซนด์วิช หรือ GSGSSI ยังคงจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่โครงการด้านวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยวกำลังเดินต่อไปภายใต้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่สูงขึ้น
BAS กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ GSGSSI ภายใต้แผนการตอบโต้ตามลำดับชั้น เพื่อติดตามและจัดการการระบาด โดยสามารถดูแผนการทำงานฉบับล่าสุดได้จากคู่มือความปลอดภัยทางชีวภาพของ GSGSSI
BAS มีสถานีวิจัย 2 แห่งในเซาธ์จอร์เจีย ซึ่งแห่งหนึ่งอยู่บนเกาะเบิร์ดไอส์แลนด์ที่มีการยืนยันการพบโรค ภายหลังการยืนยันพบโรคไข้หวัดนก งานภาคสนามส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสัตว์จึงถูกระงับ ส่วนมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มการทำความสะอาดเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ภาคสนาม และการสังเกตการณ์พื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอยู่หนาแน่น
กิจกรรมสำคัญของโครงการด้านวิทยาศาสตร์บนเกาะเบิร์ดไอส์แลนด์ยังดำเนินต่อไปด้วยความระมัดระวัง รวมถึงการติดตามสัตว์นักล่าทางทะเลในระยะยาว เช่น การติดตามนกอัลบาทรอสแวนเดอริง (Wandering Albatross) นกอัลบาทรอสคิ้วดำ (Black-browed Albatross) นกอัลบาทรอสหัวเทา (Gray-headed Albatross) นกจมูกหลอดยักษ์ถิ่นเหนือ (Northern Giant-Petrel) นกจมูกหลอดยักษ์ถิ่นใต้ (Southern Giant-Petrel) นกเพนกวินมะกะโรนี (Macaroni Penguin) และนกเพนกวินเยนทู (Gentoo Penguin) กิจกรรมการติดตามเหล่านี้ทำให้เกาะเบิร์ดไอส์แลนด์เป็นสถานที่ที่มีการติดตามโคโลนีนกทะเลอย่างเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์มีตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสัตว์สปีชีส์ต่าง ๆ
ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบของโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงต่อเซาธ์จอร์เจียได้ เนื่องจากรูปแบบการแพร่เชื้อและอัตราการตายของนกในยุโรปและอเมริกามีความผันแปรสูง ทั้งนี้ GSGSSI และ BAS จะทำงานร่วมกันเพื่อเฝ้าติดตามผลกระทบต่อสัตว์ป่าบนเกาะเบิร์ดไอส์แลนด์และโอกาสที่โรคจะแพร่ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป