ประเทศไทยประกาศให้เฝ้าระวังเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส

ประเทศไทยประกาศให้เฝ้าระวังเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส โรคหูดับหลังจากพบผู้เสียชีวิตแล้ว 24 ราย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศไทยแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้รับประทานเนื้อหมูดิบหรือเนื้อหมูที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หลังจากที่มีรายงานพบผู้ป่วยแล้วหลายร้อยรายและมีผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 24 ราย 

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2566 มีผู้ป่วยติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส 500 ราย และมีผู้เสียชีวิต 24 รายในหลายจังหวัด ตามรายงานของกรมควบคุมโรค

ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ารับประทานเนื้อหมูดิบหรือไม่ผ่านการปรุงสุก รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเลือดหมู รวมถึงการทำงานที่มีการสัมผัสกับสัตว์ที่อาจติดเชื้อ

เจ้าหน้าที่เน้นย้ำถึงแนวโน้มจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบและการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมระบุว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

ในเดือนมิถุนายน 2566 ประเทศไทยจัดงานประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสุกร (International Symposium on Emerging and Re-emerging Pig Diseases: ISERPD) และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (International Workshop on Streptococcus suis) โดยผู้เชี่ยวชาญได้อภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลทางระบาดวิทยาและการตรวจวินิจฉัยเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส การป้องกันและควบคุมโรค และการติดเชื้อในมนุษย์

เชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ในประเทศไทย

ในปี 2564 กรมควบคุมโรครายงานจำนวนผู้ป่วย จำนวน 266 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 12 ราย จากการติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มวัยทำงาน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 – 64 ปี หรืออายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาชีพที่มีความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่เกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์

การติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส มักไม่แสดงอาการในสุกร โดยคนสามารถติดเชื้อได้จากการบริโภคเนื้อหมูดิบหรือทานเนื้อหมูดิบโดยไม่ผ่านการปรุงสุก และเลือดสดที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือมีการสัมผัสโดยตรงกับสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ติดเชื้อ

ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 5 วัน อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนหัว อาเจียน ท้องเสีย คอแข็ง สายตาแพ้แสง ระดับความรู้สึกตัวลดลง และสูญเสียการได้ยิน

กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูดิบหรือเนื้อหมูที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และเลือดสด ควรปรุงเนื้อหมูด้วยความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส (องศาฟาเรนไฮต์) แนะนำให้ประชาชนซื้อเนื้อหมูสดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และสวมถุงมือเมื่อสัมผัสกับเนื้อหมู