พยาธิปอดหนูที่ติดจากหนูสู่หอยทากและติดในสมองคนมีการแพร่กระจายมาถึงฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาแล้ว

พยาธิปอดหนูที่ติดจากหนูสู่หอยทากและติดในสมองคนมีการแพร่กระจายมาถึงฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาแล้ว

หนูหลายตัวในแอตลันตาถูกตรวจสอบพบว่ามีผลการทดสอบเป็นบวกต่อพยาธิที่เป็นอันตรายซึ่งปรสิตชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

[พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus Cantonensis) หรือพยาธิหอยโข่ง คือ พยาธิตัวเมียเต็มวัยซึ่งมาจากปอดของหนู แสดงลักษณะเกลียวบาร์เบอร์โพล (ปลายส่วนหัวชี้ขึ้นด้านบนของภาพ) สัญลักษณ์มาตราส่วนขนาด 1 มิลลิเมตร] (Image credit:) พยาธิตัวกลมที่น่ากลัวในปอดหนู ซึ่งเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในหนูและหอยทากซึ่งบางครั้งก็พบว่ามันชอนไชและไปขดตัวอยู่ในสมองของคน สามารถดำรงชีวิตได้แล้วแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและค่อนข้างแน่ชัดว่าจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นต่อไปอย่างรวดเร็วตามที่การศึกษาที่ถูกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้อ้างถึง
การศึกษานี้ได้ทำการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ตายของหนูในพื้นที่ขนาดเล็กในสวนสัตว์แอตลันตา นักวิจัยทำการศึกษาเพื่อรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับพยาธิชนิดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างปี 2562 – 2565 การศึกษานี้พบว่าหนูจำนวน 7 ตัว จาก 33 ตัว (ร้อยละ 21) ที่เก็บได้มีหลักฐานว่าติดพยาธิปอดหนู หนูที่ติดพยาธินั้นพบกระจายอยู่ตลอดช่วงเวลาของการศึกษา และพบทุกช่วงเดือน โดยในปี 2562 มีการพบ 1 ตัว ในปี 2564 พบ 3 ตัว และในปี 2565 พบอีก 3 ตัว ซึ่งบ่งบอกถึงการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง
แม้ว่ามีการติดเชื้อจำนวนน้อย แต่การศึกษานี้ระบุว่า ปรสิตที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและมีการแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่ใหม่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ตามข้อสรุปของผู้เขียนเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ที่นำโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยทางการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย การศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
การค้นพบนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อร้ายแรงของพยาธิปอดหนู หรือที่รู้จักในชื่อ แองจิโอสตรองกายลัส แคนโตเนนสิส (Angiostrongylus cantonensis) สามารถก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ในมนุษย์ พยาธิตัวกลมชนิดนี้พบได้ในหนูตามที่ชื่อบ่งบอก แต่พวกมันมีวงจรชีวิตที่ซับซ้อนที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิตได้หากวงจรผิดจากปกติ

วงจรการก่อโรค

โดยทั่วไปพยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในเส้นเลือดที่ออกจากหัวใจที่อยู่รอบบริเวณปอดของหนู จึงมีชื่อว่าพยาธิปอดหนู บริเวณนั้นพวกมันจะผสมพันธุ์กันและออกไข่จำนวนมาก ตัวอ่อนของพยาธิจะชอนไชไปทั่วปอด ถูกไอออกมา และกลืนเข้าไปในทางเดินอาหารและขับถ่ายออกมาภายนอกร่างกาย จากนั้นตัวอ่อนพยาธิจะถูกกินโดยหอยทากและทากเปลือยซึ่งเกิดขึ้นหากหอยมากเหล่านี้กินมูลของหนูหรือหากเมื่อตัวอ่อนเหล่านี้ไชเข้าไปตามเนื้อเยื่ออ่อน ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตในหอยทากและทากเปลือยซึ่งจะถูกหนูกินเข้าไปในท้ายที่สุด เมื่อกลับเข้ามาในตัวหนูตัวอ่อนระยะสุดท้ายจะไชทะลุลำไส้เข้าไปในกระแสเลือดและเคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ที่จุดนั้นพวกมันจะเจริญเติบโตเป็นพยาธิใกล้เต็มวัยแล้วจะเคลื่อนที่ไปยังปอดที่พวกมันจะเจริญเต็มวัยและผสมพันธุ์กันก็จะครบวงจรชีวิต
คนจึงเป็นโฮสต์โดยบังเอิญได้หลายทาง ซึ่งอาจเกิดจากการกินหอยทากที่ไม่ได้ปรุงสุกหรือกินหอยทากหรือทากเปลือยที่ติดไปกับผักสลัดที่ไม่ได้ทำความสะอาดโดยไม่รู้ตัว หอยทากและทากเปลือยอาจถูกกินโดยสัตว์อื่นก่อน เช่น กบ กุ้ง และปูน้ำจืด หากคนกินสัตว์พวกนี้โดยไม่ได้ปรุงสุกดีก็ทำให้สามารถติดพยาธิได้
เมื่อพยาธิปอดหนูพบว่าตัวเองอยู่ในร่างกายมนุษย์ มันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนปกติที่เกิดขึ้นในหนู โดยมันเคลื่อนที่ไปยังระบบประสาทส่วนกลางและสมอง บางครั้งการเคลื่อนที่ของพยาธิไปยังระบบประสาทส่วนกลางนั้นไม่แสดงอาการใด ๆ หรือแสดงอาการโดยไม่รู้ตัว แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติของระบบประสาทอย่างรุนแรง เริ่มด้วยการแสดงอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น ปวดศีรษะ ไวต่อแสง และนอนไม่หลับ และพัฒนาไปสู่อาการคอแข็งเกร็งและปวด ภาวะสับสน ผิวหนังปวดแสบปวดร้อน เห็นภาพซ้อน ขับถ่ายและขับปัสสาวะลำบาก และชัก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจก่อความเสียหายต่อระบบประสาท อัมพาต โคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตได้
เชื่อกันว่าพยาธินี้ไม่สามารถเจริญจนครบช่วงวงจรชีวิตในคนได้ ทำให้มันเคลื่อนที่ในสมองไปเรื่อย ๆ ราว 1 – 2 เดือน ก่อนที่ระบบภูมิคุ้มกันจะจัดการได้ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีข้อมูลพบพยาธิตัวเต็มวัยในปอดคนบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะต่อการติดพยาธิปอดหนู ไม่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีข้อมูลบางส่วนที่บ่งชี้ว่ายารักษาอาจทำให้อาการแย่ลงจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อพยาธิที่ตาย ทางเลือกในการรักษาในปัจจุบันคือการรักษาพยุงอาการ ให้ยาแก้ปวดและยาในกลุ่มสเตียรอยด์

การแพร่กระจายโดยไร้การควบคุม

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นจึงสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมและป้องกันพยาธิปอดหนู เป็นเหตุผลว่าทำไมการที่มีการพบพยาธิปอดหนูในอเมริกาจึงเป็นสัญญาณเตือนเร่งด่วน มีการพบพยาธิชนิดนี้ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกามาก่อนแต่พบผู้ป่วยแบบประปรายแลไม่เคยพบว่ามีพยาธินี้ในประชากรหนูในรัฐจอร์เจีย ก่อนหน้านี้เคยพบพยาธิติดในสัตว์กลุ่มวานรในรัฐฟลอริดา ลุยส์เซียนา เท็กซัส และอลาบามา และพบในจิงโจ้แดงในรัฐมิสซิสซิปปี การศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2563 พบรายงานผู้ป่วย จำนวน 6 ราย ในช่วงปี 2554 – 2560 ซึ่งไม่มีประวัติการเดินทาง (ในเท็กซัส จำนวน 4 ราย ในเทนเนสซี จำนวน 1 ราย และในอลาบามา จำนวน 1 ราย)
เป็นที่น่าสังเกตว่าพยาธิปอดหนูกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเงียบ ๆ และแพร่กระจายไปยังเขตพื้นที่ใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากเรื่องผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง พยาธิปอดหนูเป็นที่รู้จักครั้งแรกในกวางตุ้ง (กวางโจว) ประเทศจีนเมื่อปี 2478 และหลายทศวรรษหลังจากนั้นคิดกันว่ามีการกระจายจำกัดอยู่ในพื้นที่โรคประจำถิ่นในเขตลุ่มน้ำทะเลแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการแพร่กระจายของหนูและโฮสต์ชนิดอื่นที่มีคนเป็นตัวนำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หอยทากยักษ์แอฟริกา พยาธิชนิดนี้จึงกระจายไปสู่พื้นที่ใหม่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบได้ในบางส่วนของทวีปแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และอเมริกาเหนือ มีผู้ป่วยได้รับการรายงานจาก 30 ประเทศ (พบพยาธิ A. costaricensis ซึ่งเป็นชนิดใกล้เคียงกับ A. cantonensis ในพื้นที่ละตินอเมริกา)
ในปี 2560 รัฐฮาวายรายงานการระบาดของพยาธิปอดหนูในคนซึ่งเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของ “หอยทากลดเปลือก (Semi slug)” ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดที่ติดพยาธิได้ดีเป็นพิเศษ รัฐฮาวายรวบรวมจำนวนผู้ป่วยยืนยันได้ จำนวน 18 ราย และผู้ป่วยเข้าข่ายอีก 3 รายในปีนั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน ในขณะที่ทศวรรษก่อนหน้านั้นพบผู้ป่วยเพียง 2 รายในปี 2550
พื้นที่การแพร่กระจายของเชื้อล่าสุดของพยาธิปอดหนู คือ ทวีปยุโรป พยาธิชนิดนี้ไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นสัตว์ที่พบได้ในพื้นที่จนกระทั่งปี 2561 ในปีนั้นมีการพบพยาธิในเม่นแคระ บนเกาะมายอร์กา ในทะเลเมดิเตอเรเนียน และเมื่อต้นปีนี้นักวิจัยรายงานว่าพยาธิสามารถตั้งประชากรได้แล้วในเมืองบาเลนเซียบนแผ่นดินสเปน

สัญญาณเตือนภัย

“จากการก่อตัวและเพิ่มขึ้นของพยาธิปอดหนูได้ในยุโรป มันจะสามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีป โดยเฉพาะเขตพื้นที่อบอุ่นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา” นักวิจัยชาวสเปนเตือน “ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสภาวะอากาศอุ่นขึ้น แม้แต่ทางตอนเหนือของยุโรป พยาธิชนิดนี้ก็เข้าถึงได้ เช่นที่พบในประเทศจีน”
แม้จะยังไร้หนทาง “แต่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาทางการแพทย์ในยุโรปต้องเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพยาธิชนิดนี้ รวมทั้งการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่พบไม่บ่อยแต่อันตรายถึงชีวิต” นักวิจัยสรุป
นักวิจัยในแอตลันตาก็ได้รับสัญญาณเตือนเช่นเดียวกัน เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาพร้อมรับมือพยาธิปอดหนู พวกเขายังเรียกร้องให้เพิ่มการเฝ้าระวัง การวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และการสร้างแบบจำลองทำนายการระบาด ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดความเสี่ยงต่อมนุษย์และการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่นด้วย